วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันฮารีรายอ วันสำคัญของศาสนาอิสลาม

วันฮารีรายอ

          "วันฮารีรายอ"เทศกาลแห่งความสุขที่มุสลิมทั่วโลกรอคอยมาถึงอีกครั้งแล้ว คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม แต่ผิดถนัด!! แท้จริงมันคือวันสำคัญทางศาสนา เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติศาสนกิจ และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน
         ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เราจะได้ยินข่าวว่า ชายแดนใต้เตรียมคุมเข้ม เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในวัน"ฮารีรายอ" ของชาวมุสลิมที่ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เชื่อแน่ค่ะว่า ชาวไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวพุทธคงไม่ค่อยคุ้นชื่อ "ฮารีรายอ" กันซักเท่าไหร่ พร้อมยังสงสัยว่าคือ วันดังกล่าว คือ วันอะไรและมีความสำคัญอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมขออาสานำความรู้เกี่ยวกับวันฮารีรายอ ความสำคัญ พิธีกรรม และสาระน่ารู้อื่น ๆ มาฝากกันค่ะ รายละเอียดตามข้างล่างนี้เลยจ้า


“วันฮารีรายอ” เทศกาลแห่งความสุขที่มุสลิมทั่วโลกรอคอย...

วันฮารีรายอ วันสำคัญของศาสนาอิสลาม

    "ฮารีรายอ" (Hari Raya) เป็นภาษามลายูปัตตานี ส่วนในภาษามลายูกลาง แปลว่า วันใหญ่ หรือ วันอีด เป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม โดยก่อนวันงาน ชาวมุสลิมจะออกมาจับจ่ายซื้อของ เสื้อผ้า และหมวกกะปิเยาะ เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลฮารีรายอกันอย่างคึกคัก และในวันดังกล่าวชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่ออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา มีการแสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้มทั้งสองของพ่อแม่ เป็นการแสดงความรัก ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาต่างกลับบ้าน เมื่อมาขออภัยและอำนวยพรให้พ่อแม่ ทุกครัวเรือนจะมีความอบอุ่นไปด้วยบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ กลับบ้านโดยพร้อมเพรียงกัน

“วันฮารีรายอ” เทศกาลแห่งความสุขที่มุสลิมทั่วโลกรอคอย...

ช่วงเวลา ในรอบปีหนึ่ง ชาวมุสลิม มีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ

           1) อีดิลฟิตรี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเชาวาล ซึ่งเป็นเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวช  


           2) อีดิลอัฏฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะ หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นการฉลอง วันออกฮัจญ์ หรือ ถือเป็นวันครบรอบการถือศีลอดของเดือนรอมฎอน
1) อีดิลฟิตรี งานเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอด
       แต่ละปีมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดพร้อมกันในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ทุกๆ ปีจะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันเริ่มต้นถือศีลอดในแต่ละพื้นที่โดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากปฏิทินอิสลามนั้นเป็นแบบจันทรคติ การเห็นหรือไม่เห็นดวงจันทร์ในวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็น “วันดูดวงจันทร์” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
       สำหรับประเทศไทย จะมีสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นผู้กำหนดวันดูดวงจันทร์ และจะออกประกาศให้พี่น้องมุสลิมทราบโดยทั่วกันว่า ผลการดูดวงจันทร์เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนา และประชาชนในแต่ละท้องที่คอยเฝ้าดูดวงจันทร์ แต่อย่างไรก็ตาม จะยึดถือคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก                                             
“อีดิลฟิตรี” เป็นเทศกาลรื่นเริงหลังจากถือศีลอด ซึ่งเรียกกันเล่นๆ ว่า “เดือนบวช” จึงนิยมเรียกงานรื่นเริงดังกล่าวว่า “วันรายาออกบวช” “วันรายอออกบวช” “วันออกบวช” หรือ “วันอีดเล็ก” ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล ตามปฏิทินอิสลาม
       กิจกรรมที่สำคัญเกี่ยวกับวันอีดิ้ลฟิตริ คือ การจ่ายซะกาต หรือการบริจาคทานเมื่อมีทรัพย์สินครบถึงจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ สามารถเทียบเคียงได้กับการจ่ายภาษีให้แก่สังคมนั่นเอง ถือเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว และเติมเต็มช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย
“วันฮารีรายอ” เทศกาลแห่งความสุขที่มุสลิมทั่วโลกรอคอย...


2) อีดิ้ลอัฎฮา เทศกาลเชือดสัตว์ชำระล้างจิตใจ
       ถัดจาก “วันอีดิ้ลฟิตริ” ไปอีก 2 เดือน 10 วัน โดยอ้างอิงจากปฏิทินจันทรคติแบบเดิม จะมีงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่อีกครั้ง เรียกว่า “วันอีดิ้ลอัฎฮา” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม โดยในวันดังกล่าวนี้จะตรงกับช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกเดินทางไปทำฮัจญ์ หรือแสวงบุญ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ชาวไทยมุสลิมจึงนิยมเรียกกันว่า “วันรายาฮัจญี” “วันรายอฮัจญี” “วันอีดใหญ่” หรือ “ฮารีรายากุรบาน” ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งสำคัญที่มุสลิมต้องทำเนื่องใน “วันอีดิ้ลอัฎฮา” คือ การเชือดสัตว์เพื่อเป็นพลีทาน หรือทำ “กุรบาน” สำหรับผู้ที่มีกำลังความสามารถ หรือมีทุนทรัพย์มากพอ
       “กุรบาน” คือ การเชือดสัตว์ซึ่งได้แก่ แพะ แกะ วัว หรืออูฐ แจกจ่ายแก่ครอบครัว เครือญาติ ผู้ขัดสน หรือสังคม โดยสัตว์ที่นำมาเชือดจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่พิการ หรือมีตำหนิที่น่ารังเกียจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของนบีอิรอฮีม ซึ่งเป็นศาสดาที่สำคัญอีกท่านหนึ่งของศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งเคยถูกพระองค์อัลลอฮฺทดสอบจิตใจ และความศรัทธาของพระองค์โดยการใช้ให้เชือดบุตรชายอันเป็นที่รัก
       ประวัติศาสตร์อิสลามเล่าว่า นบีอิบรอฮีมนั้นอายุมากแล้ว ประกอบกับแต่งงานมาหลายปีแล้วก็ยังไม่มีบุตร ท่านจึงได้วิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ประทานบุตรชายที่ดีให้แก่ท่านคนหนึ่ง ต่อมา เมื่อท่านแต่งงานกับนางฮาญัร นางได้คลอดบุตรชายคนหนึ่งตั้งชื่อว่า อิสมาอีล (ซึ่งต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน) นบีอิบรอฮีมรัก และเอ็นดูบุตรชายคนนี้ของท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ ต่อมา พระองค์อัลลอฮฺก็ได้มีบัญชาใช้ให้นบีอิบรอฮีมเชือดบุตรชายสุดที่รักของท่านเพื่อความพึงพอพระทัยของพระองค์ พระบัญชาดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อนบีอิบรอฮีม หลังจากท่านได้ผ่านบททดสอบหนักหนาสาหัสมามากมาย แต่ไม่มีครั้งใดที่ยากยิ่งไปกว่าครั้งนี้
        นบีอิบรอฮีมจึงเรียกบุตรชายของพระองค์มาหา และเล่าคำบัญชาใช้ของพระเจ้าให้ฟัง อิสมาอีล บุตรชายของท่านตอบว่า “คุณพ่อครับ อะไรก็ตามที่พ่อถูกบัญชาให้ทำ พ่อจงทำหากเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ แล้วพ่อจะเห็นว่าฉันคือผู้อดทน” ได้ยินดังนั้น นบีอิบรอฮีมจึงพาบุตรชายออกเดินทางไกล โดยมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะเชือดพลีบุตรชายตามพระบัญชา โดยที่อิสลาอีล บุตรชายสุดที่รักของท่านก็เห็นด้วย และยินดีที่จะพลีตนเองสนองต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า
       ระหว่างทางที่นบีอิบรอฮีมนำบุตรชายเดินทางไปเพื่อเชือดพลีก็มีมารร้ายพยายามยุแหย่ให้ไขว้เขว ไม่ให้ปฏิบัติตามคำบัญชา ท่านจึงใช้ก้อนหินขว้างมัน สักครู่หนึ่งมันก็กลับมายุแหย่รังควานท่านอีก ท่านจึงใช้ก้อนหินขว้างมันอีก มารร้ายจึงได้หลบหนีไป และเหตุการณ์ใช้หินขว้างมารร้ายนี้ก็เป็นที่มาของการขว้างเสาหินในขั้นตอนของการประกอบพิธีฮัจญ์
       ปรากฏว่า เมื่อมาถึงสถานที่เชือด หลังจากนบีอิบรอฮีมได้ให้บุตรชายนอนลง และวางคมมีดลงบนคอของลูกน้อยหมายจะเชือด ก็ได้มีบัญชาจากพระองค์อัลลอฮฺว่า พระองค์ได้เห็นเจตนาที่แท้จริงที่นบีอิบรอฮีมต้องการจะเชือดพลีบุตรชายแล้ว ดังนั้น พระองค์จะตอบแทนความดีงามให้ และแท้จริงนี่เป็นเพียงบททดสอบ จึงสั่งให้ท่านปล่อยตัวบุตรชายเป็นอิสระ ทั้งนี้ พระองค์ทรงได้ให้ค่าตัวเขาด้วยการเชือดพลีอันยิ่งใหญ่ จากนั้นก็ได้ให้นบีอิบรอฮีมเชือดแกะแทนการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของท่าน
       การเชือดสัตว์ หรือทำ “กุรบาน” เพื่อแจกจ่ายเนื่องในวันอีดิ้ลอัฎฮานี้ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงการเสียสละ และความศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺอย่างล้นพ้นของนบีอิบรอฮีมแล้ว ยังถือเป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ และขัดเกลาจิตใจมุสลิมให้รู้จักเสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อีกด้วย
      
วันฮารีรายอ วันสำคัญของศาสนาอิสลาม

ความสำคัญ

           วันฮารีรายอ เป็นวันรื่นเริงประจำปี ชาวมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่ออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา เป็นวันที่ทุกคนมีความสุขมาก มุสลิมจะมีการประกอบพิธีกรรมพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ในวันอีดีลฟิตรี มุสลิมทุกคนจะต้องจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ บริจาคทานแก่คนยากจนอนาถา ส่วนในวันอีดิลอัฏฮา จะมีการเชือดสัตว์พลี แล้วจะทำ กุรบัน แจกจ่ายเนื้อเพื่อเป็นทานแก่ญาติมิตร สัตว์ที่ใช้ในการเชือดพลี ได้แก่ อูฐ วัว แพะ เป็นการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้เป็นผู้บริจาค เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ในวันฮารีรายอชาวมุสลิม จะเดินทางกลับภูมิสำเนาของตน มาร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะ สังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้ขออภัยต่อกัน

พิธีกรรม

           1. การปฏิบัติตนในตอนเช้าของวันฮารีรายอ โดยชาวมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นผู้ตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่าง ๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่มาเยี่ยมเยียน ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซากาตฟิตเราะห์ก่อนที่จะไปละหมาดในวันอีดิลฟิตรี สิ่งของที่ใช้ในการบริจาคจะใช้สิ่งของที่บริโภคเป็นอาหารหลัก

           2. การอาบน้ำในวันฮารีรายอ เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จ จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เรียกว่าอาบน้ำสุนัต กำหนดเวลาอาบตั้งแต่เที่ยงคืนเริ่มต้นวันฮารีรายอ จนถึงพระอาทิตย์ตก แต่เวลาที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมอาบน้ำสุนัต คือเมื่อแสงอรุณขึ้นขอบฟ้าในวันฮารีรายอ ในขณะอาบน้ำสุนัตทุกคนจะต้องกล่าวดุอารีเป็นการขอพร

           3. การประกอบพิธีกรรม
 ชาวมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมที่มัสยิด ในวันอีดิลฟิตรีจะไปมัสยิดเวลา 08.30 น. วันอีดิลอัฏฮา จะไปมัสยิดเวลา 07.30 น. การปฏิบัติตนเมื่อเดินทางถึงมัสยิด ทุกคนจะอาบน้ำละหมาด จากนั้นจึงเข้าไปในมัสยิด ทำการละหมาด ตะฮีญะดุลมัสยิด 2 รอกาอัต มีการแบ่งแยกผญิงชาย โดยใช้ม่านกั้นกลาง เสร็จแล้วจัดแถวนั่งรอฟังโต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีละหมาด

           4. การละหมาด จะมีโต๊ะอีหม่ามเป็นผู้นำละหมาดจำนวน 2 รอกาอัต

           5. การปฏิบัติตนเมื่อละหมาดเสร็จ หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว มุสลิมทุกคนจะนั่งฟังอีหม่ามกล่าวคุฏบะ (คำอบรม) เพื่อแนะแนวทางชีวิตด้านความศรัทธาที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติแต่ความดีละเว้นความชั่ว และปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะนั่งฟังนั้นทุกคนจะอยู่ในความสำรวม สงบนิ่ง ตั้งใจฟัง ไม่พูดจาใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่ออีหม่ามอ่านคุฏบะฮจบแล้ว อีหม่ามจะขอพรจากพระอัลลอฮ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบรรดามุสลิมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม จะมีการขออภัยต่อกันโดยผู้น้อยจะเข้าไปขออภัยผู้อาวุโสกว่า